แชร์

ประกันความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก Third Party Liability สำคัญอย่างไร?

อัพเดทล่าสุด: 11 ก.ค. 2024
547 ผู้เข้าชม
ประกันความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก Third Party Liability สำคัญอย่างไร?

ประกันความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภภายนอก Third Party Liability สำคัญอย่างไร?

     ขอยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวที่หลายท่านคุ้นเคยคือ "ประกันภัยรถยนต์

     รถยนต์ที่วิ่งแล่นบนท้องถนนทุกวันนี้ หากก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ไปเฉี่ยวชนทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรือทำให้บุคคลอื่นได้รับอันตราย บาดเจ็บหรือเสียชีวิต และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นจะด้วยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน ถือเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องรับผิดตามกฎหมายในฐานกระทำละเมิดทั้งสิน ซึ่งจะเป็นมูลค่าสูงเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเสียหายและการสูญเสียที่เกิดขึ้น เป็นตัวเลขที่ไม่อาจจะคาดเดาได้ อาจเป็นจำนวนสูงหลายล้านบาทก็เป็นไปได้ หากไม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง หรือไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายได้ทั้งหมด มีการพิพาทกัน จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องให้เกิดการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งกันและอาจกินเวลานานกว่าที่จะได้รับการเยียวยา ในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นที่มาของการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกนี้ เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ผู้เอาประกันภัยได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก ทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย และทรัพย์สินหรือในบางครั้งที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่โดยผลของกฎหมาย ผู้เอาประกันต้องรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกด้วย เช่น นายจ้างต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกร่วมกับลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างในทางที่จ้างได้ก่อให้เกิดขึ้น แก่บุคคลภายภายนอกในขณะที่ทำงานกับนายจ้าง โดยประกันภัยรถยนต์ที่เข้ามาชดใช้เยี่ยวยาค่าเสียหายในทางแพ่งตามความเสียหายที่แท้จริง หรือสูงสุดไม่เกินวงเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ประกันภัยรถยนต์ประเภทนี้จะมีในประกันภัยประเภทภาคบังคับ หรือ ที่เรารู้จักกันว่า พรบ ของรถยนต์และ พรบ ของรถจักรยานยนต์ ที่กฎหมายบังคับว่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกคนต้องมี พรบ และไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ถ้าหากไม่มี พรบ แต่ พรบ นี้จะคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย การเจ็บป่วย เท่านั้น ไม่ได้รวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินทั้งในฝั่งของผู้เสียหายและฝั่งผู้ก่อเหตุแต่อย่างใด

     เมื่อ พรบ ซึ่งเป็นประกันภัยภาคบังคับ ไม่ได้ให้ความมคุ้มครองต่อทรัพย์สินขอองบุคคลภายนอก แต่เพื่อให้เกิดความคุ้มครองในส่วนของชีวิต ร่างกาย อนามัย การเจ็บป่วย ตลอดจนทรัพย์สินต่างๆของทั้งผู้เอาประกันภัยเองด้วย จึงเป็นที่มาของประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภทต่างๆ เพื่อให้บริษัทประกันภัยเข้ามารับความเสี่ยงภัย แทนโดยประเภทของประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกัน ได้แก่

ประเภท 3

รับผิดชอบเฉพาะที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน ชีวิต และร่างกาย อนามัย ของคู่กรณีหากเราเป็นฝ่ายผิด แต่ไม่รับผิดชอบความเสียหายรถยนต์ของเรา

ประเภท 2+

ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของเรา กรณีชนกับยานพาหนะทางบก (ชนกับอย่างอื่นไม่ได้) และที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน ชีวิตและร่างกายอนามัยของคู่กรณีหากเราเป็นฝ่ายผิด

ประเภท 1

ให้ความคุ้มครองมากที่สุด รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ ชีวิต และร่างกาย อนามัย ของเราและที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน ชีวิตและร่างกาย อนามัยของคู่กรณีหากเราเป็นฝ่ายผิด รวมถึงกรณีรถยนต์ของเราสูญหายหรือไฟไหม้

 

      ประกันความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นความคุ้มครองที่บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย การเจ็บป่วย ทรัพย์สิที่เสียหาย จากผู้เอาประกันภัย (ผู้ซื้อกรมธรรม์ หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย) หรือความบกพร่องของสถานประกอบการนั้น ๆ โดยบริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมดูแลในนามของผู้เอาประกันภัย จ่ายให้กับผู้เสียหายโดยตรงตามวงเงินที่กำหนดในกรมธรรม์ ที่เรียกว่า จำนวนเงินจำกัดความรับผิด โดยเราในฐานะผู้บริโภคซึ่งเป็นได้ทั้งผู้ซื้อประกันภัย และอาจตกเป็นผู้รับค่าชดใช้สินไหมทดแทนในฐานะผู้ประสบภัยได้  ทั้งนี้ประกันความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภภายนอก ไม่ได้มีแต่กับรถยนต์รถหรือจักรยานยนต์เท่านั้น ยังมีในผลิตภัณฑ์ประกันภัยอื่นด้วย เช่น
ประกันภัยสำหรับบ้านและคอนโด(อาคารชุด)



            ประกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย รวมถึงคอนโดหรือห้องชุด ที่คุ้มครองตัวบ้านสิ่งปลูกสร้าง(ไม่รวมฐานราก) และทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง จากภัยต่างๆ โดยความคุ้มครองทั่วไปที่มีให้และขาดไม่ได้ คือ การประกันอัคคีภัย ส่วนภัยเพิ่มเติมต่างๆการคุ้มครองอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัทที่รับประกันภัย เช่น

-          ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากการเฉี่ยวชน และหรือการชนของยวดยานพาหนะหรือสัตว์พาหนะ ภัยจากอากาศยาน และหรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ (เช่น ท่อน้ำแตก หลังคารั่ว) 

-     กลุ่มภัยธรรมชาติพื้นฐาน ภัยลมพายุ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด หรือคลื่นใต้น้ำ หรือสึนามิ และภัยจากลูกเห็บ

-          การขยายความคุ้มครองค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราวหากไม่สามารถพักอยู่อาศัยได้

-          การประกันภัยเงิน คุ้มครองงานศิลปะวัตถุ

-          การประกันภัยกระจกติดตั้งถาวรที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวอาคาร

-          การประกันภัยโจรกรรม ขโมยที่ปรากฏล่องลอยงัดแงะ

-          การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลภายในสถานที่เอาประกัน

-          คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากควัน

-          คุ้มครองความเสียหายภัยการนัดหยุดงานและการจลาจล

-          ภัยต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้เกิดจากการเสื่อมสภาพ

-          การขนย้ายซากทรัพย์สิน

-          คุ้มครองค่าใช้จ่ายต่างๆของเจ้าหน้าที่ผจญการดับเพลิง ค่าใช้จ่ายในการดับเพลิง

-          การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ภายในสถานที่เอาประกันภัย หรือ ภายในอาณาเขตประเทศไทย



     จะเห็นว่าประกันภัยสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย(รวมถึงคอนโดหรือห้องชุด) ไม่ได้มีเพียงความคุ้มครองแต่เฉพาะอัคคีภัยหรือไฟไหม้เท่านั้น ยังมีความคุ้มครองอื่นๆดังที่ได้กล่าวไว้ตอนต้น แต่ทั้งนี้ก็อาจจะะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัทที่ให้การรับประกันภัยบ้านที่อยู่อาศัยสมัยนี้บางหลังอาจมีสระว่ายน้ำ หรือ มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้เอง ซึ่งประกันภัยบ้านที่อยู่อาศัยของบางบริษัทสามารถให้ความคุ้มครองให้ได้ด้วยเช่นกัน และบางบ้านก็มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV เพื่อหวังจะป้องกันขโมย แต่พอถึงเวลามีขโมยงัดแงะบ้าน เราต้องไปแจ้งความเพื่อให้ตำรวจติดตามตัวคนร้ายที่ก่อเหตุมาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป และรับผิดชอบค่าเสียหายต่างๆในภายหลังหากจับตัวคนร้ายได้ แต่ถ้าเรามีประกันภัยบ้านที่อยู่อาศัย ก็จะได้รับการซ่อมแซมบ้าน ชดใช้ทรัพย์สินที่ถูกขโมยไปโดยไม่ต้องรอผลแห่งคดี

      คราวนี้เรามาพูดถึงความคุ้มครองเรื่องความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของประกันบ้านที่อยู่อาศัย(รวมถึงคอนโดห้องชุด) ภายในสถานที่เอาประกันก็คือภายในอาณาบริเวณตัวบ้านครอบคลุมไปถึงพื้นที่ภายในรั่วบ้านของเราด้วย ลองสมมติว่ามีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ;

- สัตว์ที่เราเลี้ยงไว้ไปกัดเพื่อนเราให้ได้รับบาดเจ็บ

- เราทำเศษแก้วหล่นอยู่ที่พื้น หรือมีน้ำหกที่พื้นทำให้เพื่อนที่ไปเหยียบเศษแก้วหรือน้ำนั้นได้รับบาดเจ็บ

- เพื่อนถูกไฟฟ้าช้อตในบ้านหรือห้องชุดของรา

- ต้นไม้ใหญ่ในเขตบ้านเราล้มไปทับบ้านข้างๆ กระถางต้นไม้ที่คอนโดหล่นลงมาโดนรถยนต์ชั้นล่าง

  เสียหาย

- เผากิ่งไม้ใบหญ้าในเขตบ้านเรา แต่ไฟกลับลามไปไหม้บ้านข้างเคียงให้ได้รับความเสียหาย

- เราเป็นบ้านต้นเพลิงไฟไหม้ เสียหายไปแ 1 ล้านบาท และเป็นเหตุให้บ้านข้างเคียงหรือห้องชุดข้างเคียง

   อีกหลายๆหลังไหม้ไปด้วยเสียหายไป 10 ล้านบาท

- สายน้ำดีใต้อ่างล้างจานแตก ตอนที่เจ้าของห้องชุดไม่อยู่ ทำให้น้ำล้นเต็มห้องแล้วไหลไปห้องข้างเคียง

   และห้องชั้นล่าง    ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง

 ฯลฯ

      จากตัวอย่างเหตุการณ์ข้างต้นทั้งหมด มีความเดือนร้อนและมูลค่าความเสียหายที่แตกต่างกันไป เช่น ไฟไหม้บ้านต้นเพลิง เสียหายไป 1 ล้านบาท แต่ลุกลามไปไหม้บ้านใกล้เคียง เสียหายไปกว่า 10 ล้านบาท เป็นต้น แต่ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านหรือเจ้าของห้องชุดจะด้วยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน ถือเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องรับผิดตามกฎหมายในฐานกระทำละเมิดทั้งสิน แต่ถ้าหากบ้านที่อยู่อาศัยหรือคอนโด(ห้องชุด)ได้ทำประกันภัยไว้ และมีความคุ้มครองในส่วนความรับผิดต่อบุคคลภายนอกภายในสถานที่เอาประกันภัยอย่างเหมาะสมและเพียงพอ  ก็จะได้รับความคุ้มครองในหมวดการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ภายในสถานที่เอาประกันภัยนี้

     แต่ถ้าหากเราไปกระทำการละเมิดนอกเขตสถานที่เอาประกันภัย เช่น เราไปเดินในห้างสรรพสินค้า แล้วไปทำคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือของร้านค้าตกพื้นเสียหาย แต่อยากให้ประกันภัยคุ้มครองการกระทำละเมิดของเราดังกล่าว ถ้าเราได้ทำประกันภัยบ้านที่อยู่อาศัยหรือคอนโด(ห้องชุด) ที่ระบุการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกภายในสถานที่เอาประกันภัยและภายในอาณาเขตประเทศไทย อย่างนี้ก็สามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ดังกล่าวได้ด้วย

      ดังนั้นผู้ที่จะทำประกันภัยบ้านที่อยู่อาศัยและคอนโด(อาคารชุด) นอกจากจะพิจารณาทุนประกันให้ถูกต้อง ราคาของเบี้ยประกันที่เหมาะสม แล้ว ยังต้องพิจารณาลงลึกไปในรายละเอียดของเรื่องความคุ้มครองในหมวดต่างๆ ตลอดจนเรื่องความรับผิดต่อบุคคลภายนอกด้วย

โปรดติดตามตอนต่อไป

ผู้เขียน : Trin Nawananthawong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy